สำหรับการฟอกเกียร์ ฟลัชเกียร์ หรือฟลัชชิ่งเกียร์ สำหรับรถเกียร์อัตโนมัติหรือเกียร์ออโต้นั้น เชื่อว่าหลาย ๆ ท่าน คงทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่แน่นอนว่ายังมีอีกหลายท่านที่ยังไม่รู้จัก ไม่กล้าทำ และไม่เข้าใจถึงความจำเป็นหรือประโยชน์ที่แท้จริง
ACS จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักการฟอกเกียร์ ฟลัชเกียร์ หรือฟลัชชิ่งเกียร์อย่างละเอียดกันไปเลย
ก่อนอื่น สำหรับชื่อเรียก ไม่ว่าจะเป็น ฟอกเกียร์ ฟลัชเกียร์ หรือฟลัชชิ่งเกียร์ จริง ๆ แล้วคือเรื่องเดียวกันครับ ดังนั้น ในที่นี้ ACS ขอเรียกกว่า ฟอก-ฟลัชเกียร์ ให้ครอบคลุมตามชื่อเรียกที่ทุกท่านคุ้นหูกันนะครับ เราไปทีละคำถามเลยครับ
1.การฟอก-ฟลัชเกียร์ คืออะไร ?
การฟอก-ฟลัชเกียร์ คือ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์อัตโนมัติ ที่สามารถถ่ายน้ำมันเก่าออกมาได้ทั้งหมด 100% และเติมน้ำมันเข้าไปใหม่ 100% ซึ่งต่างจากการถ่ายน้ำมันเกียร์ทั่วไปที่ถ่ายน้ำมันเก่าได้เพียง 30-40% เท่านั้น
ดังนั้น การฟอก-ฟลัชเกียร์อัตโนมัติ จึงเป็นการซ่อมบำรุงระบบเกียร์อัตโนมัติตามระยะ เช่นเดียวกับ การเปลี่ยนถ่ายของเหลวอื่น ๆ ในรถยนต์นั่นเอง
2.เพราะอะไรการถ่ายน้ำมันเกียร์ทั่วไปจึงถ่ายน้ำมันเก่าได้เพียง 30-40%?
เพราะการถ่ายน้ำมันเกียร์ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายน้ำมันทางน็อตถ่ายหรือใช้เครื่องดูด จะสามารถถ่ายน้ำมันได้เฉพาะที่อยู่ในอ่างน้ำมันเกียร์เท่านั้น แต่น้ำมันอีก 60-70% นั้นยังคงค้างอยู่ในสมองเกียร์ ทอร์คคอนเวอร์เตอร์ และส่วนต่าง ๆ ของระบบเกียร์ไม่สามารถถ่ายออกมาได้
3.ประโยชน์ของการฟอก-ฟลัชเกียร์ คืออะไร?
การที่สามารถเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ใหม่ทั้งได้ระบบ ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมของระบบเกียร์อยู่แล้ว หากเปรียบกับร่างกาย ก็เหมือนได้ถ่ายเลือดใหม่นั่นเอง
- การส่งต่อกำลังมีประสิทธิภาพดีเหมือนใหม่
- ช่วยให้การเปลี่ยนเกียร์กระชับ ฉับไวขึ้น
- ในเกียร์ CVT รอยต่อเกียร์สมูธขึ้น ไม่มีอาการเกียร์หรือเกียร์สลิป (Slip)
- ลดอาการกระตุก กระชาก
- เครื่องยนต์มีกำลัง มีแรงส่ง การเหยียบเร่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ลดการสึกหรอในระบบเกียร์ ยืดอายุการใช้งานของชิ้นส่วนเกียร์
4.วิธีการฟอก-ฟลัชเกียร์ ทำอย่างไร?
อย่างแรกเลยการฟอก-ฟลัชเกียร์ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ เป็นเครื่องฟอก-ฟลัชเกียร์โดยเฉพาะ ที่สามารถสร้างแรงดันเพื่อทำการผลักดันน้ำมันที่อยู่ในสมองเกียร์ ทอร์คคอนเวอร์เตอร์ และส่วนต่าง ๆ ของระบบเกียร์ออกมาได้ ซึ่งตลอดการทำการฟอก-ฟลัช น้ำมันเกียร์ในระบบจะไม่ขาดเลย เพราะหากน้ำมันขาด ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของระบบเกียร์ที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนและซับซ้อนจะเกิดการสึกหรออย่างมาก
โดยขั้นตอนของการฟอก-ฟลัชเกียร์จะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือ
- การฟอกเกียร์ คือ การนำน้ำมันเกียร์เดิมที่มีอยู่ในระบบมาไหลผ่านกรอง เพื่อดักจับสิ่งสกปรก เศษผ้าคลัตช์ เศษโลหะต่าง ๆ เพื่อให้น้ำมันเกียร์มีความสะอาดมากขึ้น
- การฟลัชเกียร์ หรือ ฟลัชชิ่งเกียร์ เป็นการใช้น้ำมันเกียร์ใหม่ ไปดันน้ำมันเก่าในระบบออกมาจนหมด
ซึ่งทั้ง 2 ขั้นตอนนี้ ช่างจะต้องมีการติดเครื่องยนต์และค่อย ๆ เปลี่ยนเกียร์ไปจนครบทุกเกียร์ เพื่อให้น้ำมันไปพาสิ่งสกปรกที่ตกค้างในทุกส่วนออกมา และให้น้ำมันใหม่เข้าไปแทนที่นั่นเอง
จากภาพก่อนทำการฟอก-ฟลัช น้ำมันเกียร์ในหลอด USED ซึ่งเป็นน้ำมันเกียร์ที่ออกมาจากรถ หรือน้ำมันเกียร์เก่านั่นเอง จะเห็นว่ามีสีเข้มเกือบดำ แตกต่างอย่างมากกับน้ำมันเกียร์ในช่อง NEW หรือน้ำมันเกียร์ใหม่ที่จะทำการเติมเข้าไป
หลังทำการฟอก-ฟลัชเกียร์เรียบร้อยแล้ว จะเห็นว่า น้ำมันเกียร์ในทั้ง 2 หลอดมีสีและความใสใกล้เคียงกัน ถือเป็นอันจบกระบวนการ
5.เหตุใดค่าบริการฟอก-ฟลัชเกียร์จึงค่อนข้างสูง?
สำหรับค่าใช้จ่ายนั้น เฉพาะในส่วนของราคาน้ำมันเกียร์เป็นเท่าตัวแล้ว เพราะต้องใช้น้ำมันเกียร์มากกว่าการเปลี่ยนถ่ายทั่วไปกว่าเท่าตัว เช่น รถไม่เกิน 7 ที่นั่ง ปกติถ่ายอยู่ประมาณ 3-4 ลิตร หากทำการฟอก-ฟลัชเกียร์จะใช้น้ำมันอยู่ประมาณ 8 ลิตร และอีกส่วนหนึ่งคือการให้บริการที่ต้องใช้เครื่องฟอก-ฟลัชเกียร์โดยเฉพาะที่ราคาสูงมาก รวมถึงระยะเวลาการให้บริการที่ต้องใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมงนั่นเอง
6.เคยได้ยินมาว่า การใช้แรงดันเข้าไปผลักดันน้ำมันเกียร์จะส่งผลให้ชิ้นส่วนเกียร์เสียหาย และทำให้สิ่งสกปรกกลับเข้าไปอุดตันในระบบได้
เครื่องฟอก-ฟลัชเกียร์โดยทั่วไปจะมี 2 แบบ คือ 1. เครื่องแบบแมนนวล ช่างเทคนิคจะปรับการใช้แรงดันให้เหมาะสมกับระบบเกียร์ของรถคันนั้น ๆ โดยจะเซนเซอร์ตรวจจับและแสดงผลที่เกจวัด และ 2. เครื่องแบบอัตโนมัติ ซึ่งเครื่องจะใช้แรงดันจากระบบเกียร์ของรถในการทำงาน แน่นอนว่าแรงดันจะเท่ากับตอนที่รถทำงานปกตินั่น ดังนั้นที่บอกว่า แรงดันจากการฟอก-ฟลัชเกียร์ทำให้ระบบเกียร์เสียหายนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิดครับ
มาถึงตรงนี้ หากท่านใดยังมีคำถามเกี่ยวกับการฟอกเกียร์-ฟลัชเกียร์เพิ่มเติม สามารถเข้ามาสอบถามเพิ่มเติมทางกล่องข้อความของแฟนเพจ ตามลิงก์นี้ได้เลยครับ >> http://m.me/acsth